ขับรถลุยน้ำท่วมต้องปิดแอร์หรือไม่ ลุยน้ำเครื่องดับทำยังไง

Last updated: 24 พ.ย. 2564  |  758 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ขับรถลุยน้ำท่วมต้องปิดแอร์หรือไม่

ขับรถลุยน้ำท่วม ต้องปิดแอร์ไหม ?
อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัยว่า หากจำเป็นที่จะต้องขับรถลุยน้ำท่วมต้องปิดแอร์หรือเครื่องปรับอากาศภายในรถหรือไม่ และถ้าไม่ปิดจะมีผลเสียงอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้นต้องบอกว่า หากเป็นการขับรถลุยน้ำท่วมที่ไม่สูงมากนักไม่เกิน 10 เซนติเมตร ยังสามารถเปิดใช้งานแอร์ได้อยู่ แต่ถ้าน้ำเริ่มท่วมสูงเกินกว่า 10 เซนติเมตรขึ้นไป ควรปิดในทันที เพราะพัดลมแอร์ที่หมุนทำงานอยู่นั้นอาจพัดน้ำ หรือตีน้ำให้กระจายไปโดนระบบไฟฟ้าภายในเครื่องยนต์ ทำให้ไฟฟ้าช็อตและรถยนต์ดับได้ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันตัวพัดลมได้รับความเสียหายจากเศษขยะที่ลอยมากับน้ำ ซึ่งอาจทำให้ใบพัดหักได้

ขับรถลุยน้ำท่วม หากเครื่องดับอย่าพยายามสตาร์ต
สาเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์ดับเมื่อขับรถลุยน้ำท่วมมีหลายปัจจัยด้วยกัน อาจเกิดจากน้ำเข้าเครื่องยนต์ หรือหัวเทียนมีความชื้นสูง ซึ่งถ้าหากเครื่องยนต์เกิดดับขึ้นมา ไม่ควรสตาร์ตเครื่องยนต์ใหม่ในทันที เพราะน้ำจะยิ่งไหลเข้าสู่ระบบไฟฟ้าและเครื่องยนต์มากยิ่งขึ้นควรหารถลากเพื่อนำรถมาอยู่ในจุดที่น้ำไม่ท่วมก่อนลองสตาร์ตใหม่อีกครั้ง หากยังไม่ติดควรนำรถเข้าอู่หรือศูนย์บริการเพื่อให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ

ขับรถลุยน้ำท่วมอย่างไรให้ปลอดภัย
สำหรับข้อควรระวังต่าง ๆ เมื่อต้องขับรถลุยน้ำท่วม นอกจากการปิดแอร์หรือเครื่องปรับอากาศแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่คนใช้รถควรรู้ไว้ เพื่อการขับรถลุยน้ำท่วมให้ปลอดภัย

  • ไม่ควรใช้ความเร็วสูงเมื่อขับผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วม โดยเฉพาะเมื่อมีรถขับสวนมา เพราะคลื่นน้ำที่เกิดขึ้นอาจสร้างความเสียหายให้กับภายในเครื่องยนต์ได้ และที่สำคัญอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับบ้าน ที่พักอาศัย รถจักรยานยนต์ หรือคนเดินทางเท้าในบริเวณดังกล่าว
  • ควรใช้เกียร์ต่ำ แม้ไม่ได้เป็นการขับรถขึ้นเขา แต่การขับรถลุยน้ำท่วมก็จำเป็นที่ต้องใช้กำลังเครื่องยนต์ในการขับลุยมวลน้ำที่มีความหนาแน่นไป แต่ไม่ควรเร่งหรือลดกำลังเครื่องยนต์ลงเพราะอาจทำให้เครื่องยนต์ดับได้
  • รักษาระยะให้ห่างจากรถคันหน้า เพราะการขับรถลุยน้ำท่วมระบบเบรกจะแช่อยู่ในน้ำตลอดเวลา ทำให้ประสิทธิภาพของเบรกลดลง ควรรักษาระยะห่างให้มากกว่าเดิมเพื่อความปลอดภัย เมื่อขับผ่านพื้นที่น้ำท่วม ควรเหยีบเบรกย้ำ ๆ เพื่อเป็นการไล่น้ำออกจากผ้าเบรก
  • เมื่อถึงจุดหมายปลายทางไม่ควรดับเครื่องยนต์ในทันที ควรจอดติดเครื่องไว้สักพักเพื่อเป็นการไล่น้ำ และความชื้นต่าง ๆ ออกมาจากท่อไอเสียหรือชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในเครื่องยนต์ก่อน พร้อมกับสำรวจความเสียหายต่าง ๆ บริเวณรอบตัวรถ เช่น ป้ายทะเบียนหลุดหาย, สีรถลอก, น้ำเข้าโคมไฟ หรือมีน้ำเข้ามาในตัวรถหรือไม่

 

แน่นอนว่าการขับรถผ่านถนนที่มีน้ำท่วมขังเพียงเล็กน้อยรถทุกชนิดยังสามารถขับผ่านไปได้ แต่ถ้าระดับน้ำที่ท่วมขังเริ่มสูงขึ้น ย่อมส่งผลกับรถยนต์ขนาดเล็ก รถยนต์ขนาดกลาง และรถกระบะที่ไม่ได้ยกสูง ส่วนรถ SUV, รถ PPV และรถกระบะยกสูงจะยังไม่เจอปัญหาใดใด จนกว่าจะเจอกับระดับน้ำที่ท่วมขังเกินกว่า 60 เซนติเมตรขึ้นไป เราลองมาดูระดับน้ำท่วมขังที่รถประเภทต่าง ๆ ยังสามารถขับลุยน้ำท่วมไปได้กัน

1. ระดับน้ำท่วมไม่เกิน 20 เซนติเมตร
ปริมาณน้ำในระดับนี้จะอยู่บริเวณครึ่งล้อของรถยนต์ขนาดเล็ก รถยนต์ขนาดกลาง และรถกระบะที่ไม่ได้ยกสูง ซึ่งยังคงเพียงพอที่จะสามารถขับผ่านไปได้ ยังไม่มีอันตรายกับตัวรถและเครื่องยนต์
2. ระดับน้ำท่วม 20-40 เซนติเมตร
ปริมาณน้ำในระดับนี้จะอยู่บริเวณที่สูงเกินครึ่งล้อรถยนต์ขนาดเล็ก และรถยนต์ขนาดกลางขึ้นมา โดยปกติรถยนต์ทั่วไปจะมีความสูงจากพื้นประมาณ 15-18 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถลุยผ่านไปได้อย่างแน่นอนเพราะท่อไอเสียจะจมหรืออยู่ในระดับเดียวกับน้ำที่ท่วมขังพอดี แต่หากจำเป็นต้องลุยฝ่าไปในระยะทางที่ไม่ไกลมากนักยังพอทำได้อยู่ แต่ถ้าไกลไม่ควรฝ่าไปเด็ดขาด ส่วนรถกระบะธรรมดาหรือรถกระบะตัวเตี้ยอาจได้รับผลกระทบเช่นกัน
3. ระดับน้ำท่วม 40-60 เซนติเมตร
ปริมาณน้ำในระดับนี้รถยนต์ขนาดเล็ก และรถยนต์ขนาดกลางทุกชนิดไม่ควรขับผ่าน ในขณะที่รถกระบะทั่วไปที่ไม่ใช่รถกระบะตัวเตี้ยยังสามารถขับผ่านได้อยู่ แต่ควรปิดเครื่องปรับอากาศ ส่วนรถกระบะยกสูง รถกระบะออฟโรด หรือรถโฟล์วิล สามารถผ่านได้สบาย แต่ควรใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
4. ระดับน้ำท่วม 60-80 เซนติเมตร
เป็นปริมาณน้ำในระดับที่ถือว่าเป็นอันตรายต่อรถทุกชนิดไม่ควรขับผ่านไปอย่างเด็ดขาด เพราะระดับน้ำจะอยู่ในระดับฝากระโปรงหน้ารถ น้ำอาจไหลเข้าช่องกรองอากาศ ทำให้เครื่องยนต์ดับได้ และถึงแม้ในรถกระบะยกสูง รถกระบะออฟโรด หรือรถโฟล์วิล จะยังพอผ่านไปได้ แต่ก็อาจเกิดอันตรายจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น หลุม บ่อ ท่อระบายน้ำ หรือสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ที่ถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถมองเห็นได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การขับรถลุยน้ำท่วมต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองและผู้โดยสารเป็นหลัก หากเราไม่ชำนาญเส้นทางควรใช้ความระมัดระวังให้มากที่สุด หรือหากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย ที่สำคัญก่อนการเดินทางทุกครั้งควรศึกษาเส้นทาง และติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้